จบปริญญาตกงานเพิ่มครึ่งแสน-จ็อบโรงแรม,ร้านอาหารหายอื้อ

      สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรประจำเดือน มิถุนายน ปี 2555 พบคนไทยว่างงาน 2.7 แสนคน เพิ่มจากปีก่อน 1 แสนคน - จบป.ตรีขึ้นไปตกงาน 1.1 แสนคนเพิ่มจากปี 2554 ถึง 5.7 หมื่นคน    
       เมื่อวันที่ 27 ก.ค. สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เผยแพร่ผลการสำรวจ “ภาวการณ์ทำงานของประชาชน” ประจำ เดือน มิ.ย.2555 ซึ่งพบว่า คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มี 54.5 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานหรือพร้อมที่จะทำงาน 39.9 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 39.5 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.7 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 8 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือไม่พร้อมจะทำงาน 15.6 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น
           โดยจำนวนผู้มีงานทำ 39.5 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 16.3 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 23.2 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน มิ.ย.2554 พบว่า ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 5.2 แสนคน และนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.3 แสนคน โดยสาขาที่เพิ่มขึ้น อาทิ การผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง และสาขาย่อยการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ที่ใช้ใน ทางทัศนศาสตร์ ส่วนสาขาที่ลดลง อาทิ สาขาโรงแรมและบริการด้านอาหาร 4.5 แสนคน สาขาการศึกษา 1.1 แสนคน สาขากิจกรรมด้านการเงินและการประกันภัย 9 หมื่นคน ฯลฯ
           ส่วนจำนวนผู้ว่างงาน มีอยู่ราว 2.7 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ถึง 1 แสนคน แต่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน พ.ค.ปี 2555 9 หมื่นคน
           เมื่อพิจารณาผู้ว่างงานตามประสบการณ์ พบว่า มีคนที่ไม่เคยทำงานมาก่อนถึง 1.2 แสนคน และที่เคยทำงานมาก่อนถึง 1.5 แสนคน
           เมื่อพิจารณาผู้ว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า ระดับอุดมศึกษา 1.1 แสนคน (เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เพิ่มขึ้น 5.7 หมื่นคน) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.5 หมื่นคน (เพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นคน) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6.5 หมื่นคน (เพิ่มขึ้น 2.7 หมื่นคน) ระดับประถมศึกษา 2.5 หมื่นคน (ลดลง 7 พันคน) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าระดับประถมศึกษา 2.3 หมื่นคน (เพิ่มขึ้น 1.6 หมื่นคน)
           ทั้งนี้ สำนักงานสถิติ ตั้งข้อสังเกตเรื่องจำนวนผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า “ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ” เพราะ คนกลุ่มนี้แม้จะมีงานทำแล้ว แต่ก็ยังมีเวลาว่างมากพอและพร้อมที่จะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีราว 4.1 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 1.0 ของจำนวนผู้มีงานทำ และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิ.ย.2554 พบว่าเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา-สำนักข่าวอิศรา
www.enn.co.th ศูนย์ข่าวการศึกษาไทย

"คุรุสภา"เดินหน้ายกเครื่องตั๋วครูเสียงแตกมองต่างมุม"หนุน-ค้าน"

นายดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยจะแยกออกเป็นใบอนุญาตครูปฐมวัย ครูประถม ครูมัธยม รวมถึงแบ่งออกเป็นใบอนุญาตตามรายวิชา อาทิ ครูสอนวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ ส่วนครูอาชีวศึกษา จะแยกออกเป็นใบอนุญาตครูผู้สอนตามสาขาวิชา เช่น วิชาช่าง เกษตร บริหาร ว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป จึงยังไม่ได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ โดยเบื้องต้นพบว่าความคิดเห็นยังแยกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรมีใบอนุญาตฯใบเดียวตามเดิม เพราะหากแยกเป็นรายวิชาจะสร้างปัญหาให้โรงเรียน เป็นเงื่อนไขให้ครูไม่ยอมสอน ทั้งที่เรามีปัญหาขาดครูมากอยู่แล้ว ขณะที่อีกฝ่ายเห็นด้วยเพื่อจะได้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้ครูเฉพาะทาง ซึ่งหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วครูจะมีใบอนุญาตฯเฉพาะทางเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ เรื่องนี้คงต้องหารือร่วมกันต่อไป เพราะหากจะปรับเปลี่ยนจริงๆ จะต้องไปแก้ข้อบังคับมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู 9 มาตรฐาน และปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ใบอนุญาตฯปัจจุบันเหมาะสำหรับครูระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงของการปูพื้นฐานวิชาต่างๆ แต่เมื่อถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตนเห็นด้วยว่าควรจะแยกออกเป็นรายวิชา เพราะโลกในอนาคตต้องการครูที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น ที่สำคัญต่อไปการขอใบอนุญาตฯมีความชัดเจนมากขึ้น คนที่เรียนครูสามารถเลือกเรียนในวิชาที่สนใจมากขึ้น ขณะที่สถาบันฝ่ายผลิตครูก็จะต้องปรับปรุงการเรียนการสอนในแต่ละวิชาให้เข้ม ขึ้นเพื่อผลิตครูให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้าน เพราะกังวลว่าหากแยกใบอนุญาตฯเป็นรายวิชา จะทำให้ครูไปสอนวิชาอื่นไม่ได้และกลัวจะขาดแคลนครูมากขึ้นนั้น ตนเห็นว่าขณะนี้ทุกภาคส่วนกำลังเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนครูอยู่แล้ว เชื่อว่าในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆ เบาบางลง ดังนั้น จึงไม่อยากให้มองที่ปัญหาเป็นตัวตั้ง แต่อยากให้มองถึงอนาคตมากกว่า

"การปรับเปลี่ยนการขอใบอนุญาตฯจะทำให้สถาบันฝ่ายผลิตครูต้องคิดว่าจะปรับ ตัวอย่างไร ที่จะพาครูไปสู่วิชาชีพอย่างมีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่หากเราไปกังวลและคิดถึงปัญหาเป็นที่ตั้ง จะทำให้ก้าวไปไหนไม่ได้เหมือนถูกบล็อก" นายสมพงษ์กล่าว
ที่มา:หนังสือพิมพ์มติชน

แท็บเล็ต ป.1 คึกคัก เริ่มเรียน 3 วิชาฉลุย

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.55 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เครื่องแท็บเล็ตชุดแรก 55,000 เครื่อง ได้จัดส่งถึงมือนักเรียนชั้น ป.1 แล้ว ตามแผนทยอยจัดสรรแท็บเล็ตของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจากที่ตน และนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ดูนักเรียนใช้งานแท็บเล็ตในโรงเรียนแห่งหนึ่ง พบว่ามีการใช้งานแท็บเล็ตในการเรียนการสอน 3 วิชา คือ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความคึกคัก นักเรียนให้ความสนใจเรียน ทั้งได้ฝึกออกเสียง ได้ตั้งสมาธิในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สพฐ.เตรียมการติดตามและประเมินความก้าวหน้าการใช้งานแท็บเล็ตอีกครั้ง

นายจำนง ยอดขำ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาญจนบุรี เขต1 เปิดเผยว่า ทาง สพป.กาญจนบุรี เขต1 ได้รับจัดสรรแท็บเล็ตชุดแรกมา 2,288 เครื่อง ซึ่งขณะนี้เพิ่งตรวจรับ ลงซีเรียลนัมเบอร์เสร็จ และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการแจกให้นักเรียนให้เสร็จสิ้น ทางเขตพื้นที่ฯได้ตรวจรับแท็บเล็ตจำนวนดังกล่าวทุกเครื่อง โดยตรวจดูประสิทธิภาพการใช้งานเบื้องต้นของเครื่อง พบมีแท็บเล็ต 2 เครื่องที่มีปัญหาแบตเตอรี่ไม่สามารถชาร์ตไฟได้ อย่างไรก็ตาม ทางเขตพื้นที่ฯ ได้นำแท็บเล็ตสำรองไปทดแทนแล้ว ส่วนเครื่องเสียกำลังพิจารณาส่งกลับมาที่ส่วนกลาง เพราะในเขตพื้นที่ฯ ยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมแท็บเล็ต

ด้านนายสมวุฒิ ศรีอำไพ ผอ.สพป.กำแพงเพชร เขต1 กล่าวว่า ทางเขตได้รับจัดสรรแท็บเล็ตชุดแรก จำนวน 2 พันกว่าเครื่อง โดยขณะนี้เพิ่งตรวจนับเสร็จและกำลังดำเนินการแจกให้นักเรียนชั้นป.1 อย่างไรก็ตาม กรณีเครื่องแท็บเล็ตเกิดความเสียหายนั้น ทางเขตพื้นที่ฯได้ประสานวิทยาลัยใกล้เคียงมาดูแลช่วยเหลือซ่อมบำรุงเบื้อง ต้น ซึ่งเป็นการดูแลกันเอง ส่วนกรณีศูนย์ซ่อมแท็บเล็ตของสโคปนั้นไม่ทราบรายละเอียด 
ที่มา:www.kroobannok.com

สมศ.ประกาศเกณฑ์ผ่านตัวบ่งชี้ที่ 2 รอบ 3 ใหม่

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ประกาศเกณฑ์การสอบผ่านการทดสอบ V-NET ที่ใช้ประกอบการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ด้านการอาชีวศึกษา ตัวบ่งชี้ที่ 2 (ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำงาน) ปีงบประมาณ 2555 ใหม่ (มติการประชุมคณะกรรมการบริหารสมศ.ครั้งที่ 5/2555 วันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2555) โดยพิจารณาจากจำนวนผู้เรียนที่สอบผ่านการทดสอบจากข้อสอบกลางในเชิงวิชาการด้านความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำงานของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) (V-NET) โดยใช้ค่า MEAN-SD ของผลการทดสอบภาพรวมทุกสมรรถนะเป็นเกณฑ์ ซึ่งระดับ ปวช.มีค่า MEAN-SD เท่ากับ 133 คะแนะ และระดับ ปวส.มีค่า MEAN-SD เท่ากับ 78 คะแนน และสามารถคำนวณหาค่าคะแนนตัวบ่งชี้ที่ 2 ได้ดังนี้

แนะนำองค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์

อยากจะแนะนำเว็บไซต์ที่สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์เป็น
คลิกที่นี่...SCIMATH

อาชีวศึกษากับการสร้างงานสร้างชาติ

ภาพจากสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ดังที่เราทราบกันแล้วว่าปัจจุบันประเทศกำลังเข้าสู่สภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สถานประกอบการมีความจำเป็นต้องการแรงงานที่จะเข้าสู่ภาคการผลิตต่างๆ แต่จากข้อมูลปัจจุบันยังมีความคลาดแคลนแรงงานระดับ ปวช.และปวส.อยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการที่นักเรียน นักศึกษาตลอดจนผู้ปกครองไม่ส่งเสริมให้เรียนสายวิชาชีพ แต่เลือกทีจะสนับสนุนให้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ หากจะแก้ไขปัญหานี้ได้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องหันมาแก้ปัญหาอย่างจริงๆจังๆเสียที
 
KruApiwat © 2010 | Designed by Chica Blogger | Back to top