นายดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา
เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
โดยจะแยกออกเป็นใบอนุญาตครูปฐมวัย ครูประถม ครูมัธยม
รวมถึงแบ่งออกเป็นใบอนุญาตตามรายวิชา อาทิ ครูสอนวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์
ฯลฯ ส่วนครูอาชีวศึกษา จะแยกออกเป็นใบอนุญาตครูผู้สอนตามสาขาวิชา เช่น
วิชาช่าง เกษตร บริหาร ว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป
จึงยังไม่ได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณา
ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ
โดยเบื้องต้นพบว่าความคิดเห็นยังแยกเป็นสองฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรมีใบอนุญาตฯใบเดียวตามเดิม
เพราะหากแยกเป็นรายวิชาจะสร้างปัญหาให้โรงเรียน
เป็นเงื่อนไขให้ครูไม่ยอมสอน ทั้งที่เรามีปัญหาขาดครูมากอยู่แล้ว
ขณะที่อีกฝ่ายเห็นด้วยเพื่อจะได้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้ครูเฉพาะทาง
ซึ่งหลายๆ ประเทศ
โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วครูจะมีใบอนุญาตฯเฉพาะทางเกือบทั้งหมด ทั้งนี้
เรื่องนี้คงต้องหารือร่วมกันต่อไป เพราะหากจะปรับเปลี่ยนจริงๆ
จะต้องไปแก้ข้อบังคับมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู 9 มาตรฐาน
และปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กล่าวว่า ใบอนุญาตฯปัจจุบันเหมาะสำหรับครูระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น
ซึ่งเป็นช่วงของการปูพื้นฐานวิชาต่างๆ แต่เมื่อถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ตนเห็นด้วยว่าควรจะแยกออกเป็นรายวิชา
เพราะโลกในอนาคตต้องการครูที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น
ที่สำคัญต่อไปการขอใบอนุญาตฯมีความชัดเจนมากขึ้น
คนที่เรียนครูสามารถเลือกเรียนในวิชาที่สนใจมากขึ้น
ขณะที่สถาบันฝ่ายผลิตครูก็จะต้องปรับปรุงการเรียนการสอนในแต่ละวิชาให้เข้ม
ขึ้นเพื่อผลิตครูให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้าน
เพราะกังวลว่าหากแยกใบอนุญาตฯเป็นรายวิชา
จะทำให้ครูไปสอนวิชาอื่นไม่ได้และกลัวจะขาดแคลนครูมากขึ้นนั้น
ตนเห็นว่าขณะนี้ทุกภาคส่วนกำลังเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนครูอยู่แล้ว
เชื่อว่าในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆ เบาบางลง ดังนั้น
จึงไม่อยากให้มองที่ปัญหาเป็นตัวตั้ง แต่อยากให้มองถึงอนาคตมากกว่า
"การปรับเปลี่ยนการขอใบอนุญาตฯจะทำให้สถาบันฝ่ายผลิตครูต้องคิดว่าจะปรับ
ตัวอย่างไร ที่จะพาครูไปสู่วิชาชีพอย่างมีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี
แต่หากเราไปกังวลและคิดถึงปัญหาเป็นที่ตั้ง
จะทำให้ก้าวไปไหนไม่ได้เหมือนถูกบล็อก" นายสมพงษ์กล่าว
ที่มา:หนังสือพิมพ์มติชน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น